ปรัชญาและวัตถุประสงค์ของหลักสูตร |
1. ปรัชญาหลักสูตร |
มุ่งเน้นการผลิตนักวิชาการสาธารณสุข ที่สามารถแก้ไขปัญหาและให้บริการสาธารณสุขในชุมชน ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การดูแลรักษาเบื้องต้น การป้องกันโรค การฟื้นฟูสุขภาพ การบริหารจัดการด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น ตลอดจนสามารถวิจัยงานจากปัญหาสุขภาพของชุมชน เป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรมต่อวิชาชีพ มีจิตสำนึกที่ดีต่อขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น |
2. วัตถุประสงค์ของหลักสูตร |
2.1 เพื่อสร้างบัณฑิตให้มีความรู้ ความเข้าใจทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี |
2.2 เพื่อสร้างบัณฑิตให้เป็นนักวิชาการสาธารณสุขที่สามารถให้บริการสาธารณสุขในชุมชน มีความรู้ความสามารถในการทำงานแบบผสมผสานและครบวงจร มีทักษะในกระบวนการแก้ปัญหาสาธารณสุขในเชิงรุก ตามสภาพปัญหาของแต่ละท้องถิ่น |
2.3 เพื่อให้สามารถใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และองค์ความรู้ประยุกต์ในงานวิจัยด้านสาธารณสุขเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพของท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ |
2.4 เพื่อสร้างบัณฑิตให้มีความสามารถเชิงสากล คือ มีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ภาษา คอมพิวเตอร์ การบริหารจัดการ สามารถเป็นผู้นำ และใฝ่การศึกษาตลอดชีวิต |
2.5 เพื่อสร้างบัณฑิตให้มีจริยธรรมและสำนึกในจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ สามารถให้บริการประชาชน โดยคำนึงถึงสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน |
2.6 เพื่อสร้างบัณฑิตให้เป็นผู้มีจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ รู้จักการปรับตัวตามค่านิยม ประเพณี วัฒนธรรม เอกลักษณ์ต่างๆ ของชุมชนท้องถิ่น |
|
คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ |
บัณฑิตสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ ด้านสาธารณสุขทั้งวิชาการและวิชาชีพ และความสามารถเชิงสากล บริหารจัดการด้านสาธารณสุขในชุมชนแบบครบวงจร มีความเป็นผู้นำและทักษะในการทำงานเป็นทีม ใฝ่รู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ มีคุณธรรม จริยธรรม มีจิตสำนึกในการให้บริการและคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มารับบริการเป็นหลัก รวมทั้งการเป็นผู้นำด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น เพื่อการมีสุขภาวะที่ดี |
|
ปีการศึกษาที่ใช้หลักสูตร |
1. ปีการศึกษาที่ใช้หลักสูตรเดิม : ปีการศึกษา 2541 |
2. ปีการศึกษาที่กำหนดใช้หลักสูตรปรับปรุงใหม่ : ปีการศึกษา 2549 |
|
คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา |
ผู้ที่จะเข้าศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2548 และตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าด้วยการศึกษาขั้นปริญญาตรี พ.ศ. 2547 หมวดที่ 2 ข้อ 5 ดังนี้ |
1.1 เป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าทั้งนักเรียนไทยและต่างประเทศที่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ หรือผู้ที่สภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้สมัครได้เป็นกรณีพิเศษ |
1.2 เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา หรือผู้ที่คณะกรรมการบริหารหลักสูตรอนุมัติให้สมัครได้เป็นกรณีพิเศษ |
1.3 ไม่เป็นคนวิกลจริต และเป็นผู้ไม่มีโรคติดต่อร้ายแรง โรคที่สังคมรังเกียจ และเป็นโรคที่จะเบียดเบียนหรือขัดขวางต่อการศึกษา |
1.4 ไม่เป็นผู้ที่มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง ไม่อยู่ระหว่างต้องโทษในคดีอาญาตามคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้รับโทษจำคุก เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ |
1.5 ไม่เคยถูกคัดชื่อออกจากสถาบันการศึกษา เพราะมีกรณีทำความผิดทางวินัย |
1.6 มีคุณสมบัติอื่นครบถ้วนตามประกาศของมหาวิทยาลัย ว่าด้วยการรับเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย |
|
การคัดเลือกผู้เข้าศึกษา |
การคัดเลือกผู้เข้าศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าด้วยการศึกษาขั้นปริญญาตรี พ.ศ. 2547 หมวดที่ 2 ข้อ 6 ดังนี้ |
1. สอบคัดเลือก โดยวิธีที่มหาวิทยาลัยกำหนด ซึ่งจะเป็นไปตามระเบียบการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา |
2. วิธีอื่น ๆ ที่สภามหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนด |
|
ระบบการศึกษาและหลักสูตรการศึกษา |
1. ระบบการศึกษา |
ระบบการศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ใช้ระบบทวิภาค โดยหนึ่งภาคการศึกษาแบ่งเป็น 2 ภาคการศึกษาปกติ หนึ่งภาคการศึกษาปกติมีระยะเวลาการศึกษาไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์ จัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการบางรายวิชา จัดการศึกษาเป็นภาษาไทย |
2. การคิดหน่วยกิต |
2.1 รายวิชาภาคทฤษฎี ที่ใช้เวลาบรรยายหรืออภิปรายปัญหาไม่น้อยกว่า 15 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติ หรือ 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตระบบทวิภาค |
2.2 รายวิชาภาคปฏิบัติ ที่ใช้เวลาฝึกหรือทดลองไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติ หรือ 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตระบบทวิภาค |
2.3 การฝึกงานหรือการฝึกภาคสนาม ที่ใช้เวลาฝึกไม่น้อยกว่า 45 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติ หรือ 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตระบบทวิภาค |
2.4 การทำโครงงานหรือกิจกรรมการเรียนอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย ที่ใช้เวลาในการทำโครงงานหรือกิจกรรมนั้นๆ ไม่น้อยกว่า 45 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติ มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตกับระบบทวิภาค |
|
การลงทะเบียนเรียนและระยะเวลาการศึกษา |
1. การลงทะเบียน |
การลงทะเบียนเรียนของนักศึกษา ให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าด้วยการศึกษาขั้นปริญญาตรี พ.ศ. 2547 หมวดที่ 5 ถึงหมวดที่ 7 |
2. ระยะเวลาการศึกษา |
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ เป็นหลักสูตรปกติเต็มเวลา ใช้เวลาในการศึกษาตลอดหลักสูตร 4 ปี และไม่เกิน 8 ปีการศึกษา มีจำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 139 หน่วยกิต |
|
การวัดผลและการสำเร็จการศึกษา |
การวัดผลและเกณฑ์การสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ นักศึกษาจะต้องเรียนครบตามจำนวนหน่วยกิตที่หลักสูตรกำหนด และต้องได้แต้มคะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.00 จากระบบ 4 แต้มระดับคะแนนตามข้อบังคับว่าด้วยการศึกษาขั้นปริญญาตรี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2547 หมวดที่ 8 , 9, 10 |
|